โรงเรียนบึงมะลูวิทยา
ข่าวประชาสัมพันธ์

พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจ ในหลวงรัชกาลที่ ๑๐

พระราชประวัติ
          พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชโอรสเพียงพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชสมภพ เมื่อวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 เวลา 17:45 น. ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อทรงพระเจริญมีพระชนมายุได้ 4 พรรษา สมเด็จพระบรมชนกนาถทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เริ่มรับการถวายพระอักษร ได้ทรงเข้าศึกษาชั้นอนุบาลปีที่ 1 โรงเรียนจิตรลดา แล้วจึงเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนคิงส์มีด ที่แคว้นซัสเซกส์ และโรงเรียนมิลฟิลด์ แคว้นซอมเมอร์เซท ที่ประเทศอังกฤษ จากนั้นทรงเข้ารับการศึกษาระดับเตรียมทหารที่โรงเรียนคิงส์ ซิดนีย์ และสำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยการทหารดันทรูน แคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย จนสำเร็จการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2519
          เมื่อนิวัติประเทศไทยทรงรับราชการทหารแล้วทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก รุ่นที่ 46 เมื่อ พ.ศ. 2520 ทรงเข้าศึกษาในสาขาวิชานิติศาสตร์ รุ่นที่ 2 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เมื่อ พ.ศ. 2525 ทรงสำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 2) และ พ.ศ. 2533 ทรงได้รับการศึกษา ณ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรแห่งสหราชอาณาจักร
          เมื่อพระองค์ทรงเจริญพระชนมพรรษา 20 พรรษา พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการตั้งการพระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ให้ทรงดำรงพระราชอิสริยยศขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ในวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2515 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต
          พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแสดงพระองค์เป็นพุทธมามกะที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2509 ก่อนเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ ทั้งทรงมีพระราชศรัทธาทรงผนวชในพระพุทธศาสนา โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีผนวช ณ พัทธสีมาวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2521 โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) เป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญสุวฑฺฒโน) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ สมเด็จพระธีรญาณมุนี (ธีร์ ปุณฺณโก) ถวายอนุศาสน์ ได้รับถวายพระสมณนามว่า “วชิราลงฺกรโณ” และได้ประทับอยู่ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ตลอดจนทรงลาสิกขาในวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2521

บรมราชาภิเษก
          ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ณ พระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร โดยทรงเฉลิมพระปรมาภิไธยตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” และมีพระปฐมบรมราชโองการความว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”

พระราชกรณียกิจ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ ๑๐

ด้านการทหารและการบิน

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงสนพระราชหฤทัย ในวิทยาการด้านการทหาร มาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ นอกจากทรงรับการศึกษาทางด้านการทหารจากประเทศออสเตรเลียแล้ว ยังทรงพระวิริยอุตสาหะในการเพิ่มพูนความรู้และพระประสบการณ์ด้านการทหารอยู่ตลอดเวลา

ด้านการกีฬา
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจทั้งในฐานะผู้แทนพระองค์และในส่วนของพระองค์เอง อาทิ การพระราชทานไฟพระฤกษ์กีฬาเยาวชนแห่งชาติ พระราชทานพระราชวโรกาสให้นักกีฬาไทยผู้นำความสำเร็จ นำเกียรติยศ มาสู่ประเทศชาติ
เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับพระราชทานรางวัลนักกีฬายอดเยี่ยม

ด้านการศึกษา
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงตระหนักในคุณค่าและความสําคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศให้มีคุณภาพจึงสนับสนุนด้านการศึกษาให้กับประชาชนได้เรียนรู้สามารถนํามาใช้ประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัว

ด้านศาสนา
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจทางศาสนาเป็นประจำอย่างสม่ำเสมออาทิ ทรงเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตามฤดูกาล

ด้านการเกษตรกรรม
เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในการพระราชพิธีพืชมงคล ณ วัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นประจำ

ด้านการแพทย์และสาธารณสุข
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงตระหนักว่า สุขภาพพลานามัยของประชาชนเป็นปัจจัยและพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ จึงทรงสนพระราชหฤทัยในการประกอบพระราชกรณียกิจด้านการแพทย์และสาธารณสุข โปรดให้สร้างโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ๒๑ แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้การรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วยในถิ่นทุรกันดาร

ด้านความสัมพันธ์กับต่างประเทศ
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงเจริญพระราชไมตรีระหว่างประเทศ โดยเมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศ
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยือนมิตรประเทศทั่วทุกทวีปอย่างเป็นทางการเป็นประจำทุกปี ปีละหลายครั้ง

ด้านสังคมสงเคราะห์
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงมีความห่วงใยต่อผู้ด้อยโอกาส และคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนแออัด พระองค์จึงได้เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมชุมชนแออัดในกรุงเทพฯ หลายแห่ง อาทิ ชุมชนแออัดพระโขนง เขตคลองเตย เขตยานนาวา และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภค เครื่องกีฬา เครื่องดับเพลิง พระราชทานพระราชทรัพย์สนับสนุนโครงการของชุมชน

พระราชกรณียกิจ รูปแบบ E-BOOK

ที่มาของข้อมูล  https://www.thailandpostmart.com/news

ลงนามถวายพระพร