ข่าวสารทั่วไป

2 เมษายน วันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี

2 เมษายน วันคล้ายวันพระราชสมภพ
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ

สยามบรมราชกุมารี

 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2498 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์ที่ 3 ในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 และได้รับการถวายพระนามจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ พร้อมทั้งประทานคำแปลว่า นางแก้ว อันหมายถึง หญิงผู้ประเสริฐ และมีพระนามที่ข้าราชบริพารเรียกทั่วไปว่า ทูลกระหม่อมน้อย
 
พระองค์ทรงเริ่มเข้ารับการศึกษาระดับอนุบาลที่โรงเรียนจิตรลดา ภายในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เมื่อ พ.ศ. 2501 จนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลายใน พ.ศ. 2515 ทรงสอบไล่จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ในแผนกศิลปะด้วยคะแนนสูงสุดของประเทศ จากนั้น พระองค์ทรงสอบเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์แรกที่ทรงเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในประเทศ จนกระทั่ง พ.ศ. 2520 พระองค์ทรงสำเร็จการศึกษา ได้รับปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทอง ด้วยคะแนนเฉลี่ย 3.98
 
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงบำเพ็ญพระองค์ให้เป็นประโยชน์แก่ชาติบ้านเมือง โดยเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรในภูมิภาคต่างๆ อยู่เสมอ และทรงช่วยเหลือกิจการโครงการตามพระราชดำริทุกโครงการ พร้อมทรงรับพระบรมราโชบายมาทรงดำเนินการสนองพระเดชพระคุณ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในด้านต่างๆ
 
นอกจากพระราชกรณียกิจหลากสาขา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระปรีชาสามารถทางด้านอักษรศาสตร์เป็นที่ประจักษ์ พระองค์ทรงประพันธ์และแปลหนังสือมากมาย รวมทั้งหนังสือสำหรับเด็กและเยาวชน โดยทรงใช้พระนามแฝงหลายชื่อ อาทิ แว่นแก้ว ที่ทรงใช้เมื่อ พ.ศ. 2521 ในหนังสือพระราชนิพนธ์สำหรับเด็ก ได้แก่ แก้วจอมซน แก้วจอมแก่น และขบวนการนกกางเขน
 
วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกำหนดให้วันที่ 2 เมษายนของทุกปี ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นวันหนังสือเด็กแห่งชาติตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ โดยใน พ.ศ. 2548 นับเป็นปีมหามงคลที่ทรงมีพระชนมายุ 50 พรรษา กระทรวงศึกษาธิการจึงเห็นสมควรน้อมเกล้าฯ ถวายพระเกียรติ เพื่อรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงส่งเสริมการอ่าน และทรงประพันธ์บทพระราชนิพนธ์สำหรับเด็กและเยาวชนมาแต่ครั้งทรงพระเยาว์ 
 
คุณูปการด้านสหกรณ์
 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเห็นว่า การปลูกฝังสหกรณ์แก่เด็กและเยาวชน โดยเริ่มจากโรงเรียนเป็นอันดับแรก จะก่อให้เกิดความร่วมมือร่วมใจในกลุ่มของเด็กนักเรียน   ตลอดจนครูและประชาชนในท้องถิ่นอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง เกิดการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม การรวมกลุ่มกันในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อการดำเนินชีวิตที่ดีขึ้น จึงมีพระราชกระแสกับอธิบดีกรมตำรวจ ณ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านภู่ต่าง อำเภอบ้านโคก จังหวัดอุตรดิตถ์  เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๔  ให้ดำเนินการสหกรณ์ในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน และมีพระราชกระแสกับอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๔  ให้ส่งเสริมวิธีสหกรณ์ให้แพร่หลายไปยังเด็กนักเรียน จึงได้เริ่มดำเนินโครงการการส่งเสริมสหกรณ์ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๔ เป็นต้น
 
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงส่งเสริมสหกรณ์ในโรงเรียนเป็นการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่นักเรียนในการรวมกันซื้อ รวมกันขาย หลักการทำบัญชีออมทรัพย์
 
“…เรื่องสหกรณ์โรงเรียน (เริ่ม พ.ศ. ๒๕๓๔) ก็เป็นงานหนึ่งที่ข้าพเจ้าพยายามจัดให้มีขึ้นทุกแห่งเมื่อเริ่มโครงการข้าพเจ้ากำชับไว้ว่าผลผลิตที่เกิดจากงานเกษตรห้ามขายเด็ดขาด ต้องให้นักเรียนรับประทานเพื่อบำรุงร่างกาย ซึ่งเป็นจุดประสงค์หลักของโครงการ ถึงแม้ว่าจะมีปริมาณเกินกว่าที่จะบริโภคได้หมด ก็ให้ทำการถนอมอาหารเก็บไว้ หรือแจกให้นักเรียนไปรับประทานที่บ้าน ต่อมาเมื่อโครงการประสบความสำเร็จพอสมควรแล้ว ก็ยอมให้ขายได้ส่วนหนึ่งเพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนให้ โครงการบางส่วนเลี้ยงตัวเองได้ ทั้งนี้ต้องไม่ให้มีผลกระทบต่อภาวะโภชนาการ เมื่อมีการซื้อขาย ก็ต้องเกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจ ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าระบบที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจที่เหมาะสมกับพื้นที่ที่เป็นที่ตั้งโรงเรียน ตชด. มากที่สุดก็คือ ระบบสหกรณ์ เพราะแต่ละคนมีเงินน้อย เมื่อร่วมกันจึงพอลงทุนธุรกิจใดๆ ได้ ในหนังสือเรียนชั้นประถมศึกษา ก็มีบทที่ว่าด้วยการสหกรณ์อยู่แล้ว จึงสนับสนุนให้มีการปฏิบัติจริงในโรงเรียน กรมส่งเสริมสหกรณ์ (สหกรณ์จังหวัด สหกรณ์อำเภอ) ได้มาช่วยจัดกิจกรรมสหกรณ์ โดยให้สหกรณ์ (จริงๆ) ที่อยู่ใกล้เคียง ช่วยเป็นพี่เลี้ยงดูแลแนะนำให้กรรมการสหกรณ์เด็กนักเรียนไปดูงานถ้าเป็นไปได้…”
 
“…ส่วนใหญ่จัดเป็นสหกรณ์ร้านค้าและสหกรณ์ออมทรัพย์ มีร้านค้าขายของใช้จำเป็น ข้าพเจ้าคิดว่าถ้าจะซื้อของมาใช้ในโรงเรียน ก็ให้ซื้อผ่านสหกรณ์ ก็จะได้เป็นราคาขายส่ง ในการที่จะขายสินค้าต่างๆ แม้แต่ขายของจากแปลงเกษตรเข้าโรงครัวก็ให้ผ่านสหกรณ์ การที่จะร่วมมือกันหาตลาดผลิตภัณฑ์ก็ต้องให้กรรมการสหกรณ์รับทราบ การฝึกหัดเด็กนักเรียนในเรื่องสหกรณ์ ทำให้เด็กได้ฝึกหัดทักษะหลายอย่าง คือ หัดมาประชุมกัน ใช้เหตุผลโต้เถียงกัน อันเป็นการฝึกหัดการอยู่ในสังคมประชาธิปไตยเมื่อประชุมก็ให้มีการจดบันทึกการประชุม เป็นการฝึกหัดเขียนหนังสือ ฝึกหัดขาย เมื่อขายก็ต้องรู้จักการทำบัญชี ซึ่งก็เป็นอีกวิชาหนึ่ง…บางครั้งกิจการร้านค้าสหกรณ์เจริญรุ่งเรืองมาก เด็กนักเรียนและครูพากันไปขายของ ทำให้ละเลยเรื่องการเรียนการสอน ก็ต้องเตือนกัน…”
(จากหนังสือ พระราชนิพนธ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เกี่ยวกับโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน)
 
“…การออมทรัพย์เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะช่วยให้มีการวางแผนชีวิต ไม่ให้ใช้จ่ายเกินกว่าที่ตนเองมี เพื่อให้มีพอใช้เมื่อจำเป็น เช่น เวลาเจ็บไข้ เป็นต้น…”
(จากหนังสือ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงบรรยายเรื่องการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร)
 
พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้านต่างๆ ดังข้างต้น เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนเท่านั้น ที่แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพในการพัฒนาที่ได้ทรงเน้นให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เด็ก และเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร เพื่อให้มีอาหารที่เพียงพอในขณะกำลังศึกษา การฝึกปฏิบัติจริง เพื่อจะได้เป็นวิชาติดตัวไปประกอบเป็นอาชีพได้ การส่งเสริมการรวมกลุ่มในการช่วยกันคิด ช่วยกันทำการฝึกทักษะในการจัดทำบัญชี รวมไปถึงการส่งเสริมการออม จะเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการดำรงชีวิตของเด็กและเยาวชนในอนาคตต่อไป